วิถีชาวยองบ้านดอนหลวง จ.ลำพูน ชุมชนที่รักษาอัตลักษณ์พื้นถิ่นให้คงอยู่

8 กรกฎาคม 2021 เวลา 14:18
ขนาดตัวอักษร  

          พาเที่ยวชุมชนชาวยอง บ้านดอนหลวง จังหวัดลำพูน ชุมชนแห่งการเรียนรู้ภูมิปัญญา งานหัตถกรรมผ้าฝ้ายทอมือ สร้างรายได้ให้กับชุมชน สะท้อนวัฒนธรรมและประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์มาช้านาน

          ในภาคพื้นอุษาคเนย์เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ อย่างในแถบล้านนาของไทย โดยเฉพาะเมืองลำพูนนั้น กลุ่มชาติพันธุ์ไต หรือไท ถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่กระจายตัวอยู่ทั่วจังหวัด หากใครอยากสัมผัสวิถีชุมชนท้องถิ่นในลำพูนแบบดั้งเดิม แนะนำให้ไปเที่ยวชุมชนชาวยอง ณ บ้านดอนหลวง ที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ ประเพณีวัฒนธรรม และวิถีตามแบบบรรพบุรุษ สืบเนื่องมายาวนานร่วมร้อยปี ดังนั้น องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. จึงเข้าไปสนับสนุนจนเกิดเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
 


ทำความรู้จักประวัติศาสตร์ "ไทยอง"

          ไทยอง เป็นชื่อที่ใช้เรียกคนในกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ ที่ตั้งบ้านเมืองอยู่ที่เมืองยอง ประเทศเมียนมา และได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2348 เมื่อครั้งที่พระยากาวิละ เจ้าเมืองเชียงใหม่ กวาดต้อนผู้คนจากเมืองยองร่วมฟื้นฟูอาณาจักรล้านนา โดยให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองลำพูน ปัจจุบันพวกเขาเรียกตัวเองว่า "คนยอง" ซึ่งในการตั้งถิ่นฐานของไทยองในลำพูน พระเจ้ากาวิละได้สถาปนาให้ผู้นำของชาวยองขึ้นเป็นเจ้าเมือง และให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่ราบลุ่มฝั่งแม่น้ำกวง ตรงข้ามกับตัวเมืองลำพูน ปัจจุบันคือบ้านเวียงยอง ส่วนไทยองกลุ่มอื่น ๆ ถูกตั้งให้กระจัดกระจายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของลำพูน

          ย้อนไปในอดีตที่เมืองยองในเมียนมา ไทยองเคยมีวัดหัวข่วงราชฐานหลวงเป็นศูนย์รวมจิตใจ เมื่อต้องอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ จึงได้ร่วมกันสร้างวัดหัวข่วงนางเหลียว ซึ่งต่อมาวัดก็ได้ถูกแม่น้ำกัดเซาะตลิ่งจนพัง ชาวยองจึงช่วยกันสร้างวัดใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2357 และใช้ชื่อว่า "วัดหัวขัว" แม้จะมีความมั่นคงในพระพุทธศาสนา แต่ในความเชื่อดั้งเดิมของชาวไทยองก็ยังนับถือผีควบคู่กันไปด้วย โดยมี “เตวะบุตรโหลง” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกปักรักษาให้อยู่เย็นเป็นสุขตราบถึงทุกวันนี้

 



ชุมชนชาวยอง ณ บ้านดอนหลวง แหล่งผลิตงานหัตถกรรมผ้าฝ้ายทอมือ

          ช่างทอผ้าที่บ้านเวียงยอง ขึ้นชื่อในการสร้างเอกลักษณ์บนชิ้นงานผ้าทอพื้นถิ่นของตนเอง การออกแบบลวดลายล้วนได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิต คติความเชื่อ และพุทธศาสนา โดยลายบนผืนผ้าอันเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น ได้แก่ ลายกล้วยไม้ ลายพิกุล ลายกนก และลายดอกบานไม่รู้โรย ซึ่งแต่ละลายล้วนเป็นมรดกตกทอดทางภูมิปัญญาที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

          ทั้งนี้ กระบวนการทอผ้าฝ้าย เริ่มกันตั้งแต่การปลูกและทำเองแทบจะทุกกระบวนขั้นตอน โดยอิงกับธรรมชาติเป็นหลัก เกิดเป็น "ผ้าทอยกดอก" ของขึ้นชื่อแห่งเมืองลำพูน ซึ่งมีความเฟื่องฟูมาตั้งแต่ช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 5 จากเจ้าดารารัศมี (พื้นเพเป็นคนเชียงใหม่) นำความรู้เรื่องการทอผ้ามาสอนให้กับเจ้าลำพูน ซึ่งเป็นเครือญาติกับเจ้าหญิงส่วนบุญ ชายาเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ปกครองลำพูนองค์สุดท้าย และเมื่อเจ้าหญิงส่วนบุญเห็นว่าชาวเวียงยองทอผ้าเป็น จึงให้ไปทอผ้าในคุ้ม ตอนหลังคนที่ทอเป็นก็ออกมาสอนคนข้างนอก จนความรู้เรื่องการทอผ้าแพร่หลายและเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไปมากขึ้นตามลำดับ
 


          ปัจจุบันการทอผ้าฝ้ายของชาวบ้านดอนหลวงมีการพัฒนารูปแบบ สีสัน และลวดลาย ให้มีความทันสมัยมากขึ้น เช่น เสื้อผ้า ผ้าคลุมไหล่ ปลอกหมอน ผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ และผ้าปูเตียง เป็นต้น อีกทั้งยังผลิตสินค้าออกจำหน่ายเป็นสินค้าที่ระลึกไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ มากมาย นับเป็นแหล่งผลิตสินค้าจากผ้าฝ้ายทอมือขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศ และจะมีการจัดงานแต่งสี ลวดลาย ผ้าฝ้ายดอนหลวง เป็นประจำทุกปี

หลากกิจกรรมท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชุมชนชาวยอง

          ท่ามกลางสังคมเมืองที่เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านเวียงยองยังคงอนุรักษ์ รักษา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีของตนเองเอาไว้ เช่น

          - เรียนรู้งานหัตถกรรมผ้าทอแบบโบราณ

          ณ ศูนย์รวมผลิตภัณฑ์เครือข่ายกลุ่มทอผ้าหัตถกรรมพื้นบ้าน จากฝ้าผ้ายทอมือของชาวบ้านดอนหลวง กลายเป็นสถานที่เรียนรู้งานหัตถกรรมผ้าแบบโบราณ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามาเยี่ยมเยือนและศึกษาดูงาน ตลอดจนได้สัมผัสและใกล้ชิดกับเจ้าของผลงาน แลกเปลี่ยนพูดคุยอย่างเป็นกันเอง งานฝีมือที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น พัฒนาปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย จนเป็นรายได้หลักของชุมชน ประกอบกับความสามารถด้านงานฝีมืออันโดดเด่น จึงทำให้ชุมชนมีงานฝีมือเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการทอผ้าฝ้ายทอมือที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ และผลิตผ้าฝ้ายทอมือแปรรูปอื่น ๆ อีกมากมาย
 




 

          - ทำผ้าบาติกมัดย้อม

          เรียนรู้อีกหนึ่งอัตลักษณ์ของชุมชนชาวยอง กับการทำผ้าบาติกมัดย้อม ซึ่งลวดลายต่าง ๆ มาจากการมัดผ้านั่นเอง จากนั้นค่อยนำไปต้มหรือย้อมครามธรรมชาติ โดยไม่ใช้สารเคมีในการย้อม เสร้จแล้วก็ค่อยนำไปตากให้แห้ง แกะออกมาหน้าตาสวยสมตามความตั้งใจของคนทำแน่นอน

 

 


          - โฮมสเตย์สัมผัสวิถีชีวิตชาวยอง ชิมอาหารพื้นเมือง

          นอนหลับพักผ่อนให้เพลินอุรา ด้วยการบริการและการต้อนรับจากชาวบ้านอย่างเป็นกันเอง นอนอิ่มแล้วท้องก็ต้องอิ่มด้วยเช่นกัน ชิมอาหารพื้นเมืองแสนอร่อย ทุกขั้นตอนล้วนปรุงจากใจ หวังให้คนกินรับรู้ด้วยเช่นกัน หลากหลายเมนูไล่เรียงมาตั้งแต่ โดยเฉพาะ "หมี่สะแนต" หรือ "ยำผักรวม" เมนูอาหารพื้นบ้านของชาวดอนหลวง ประกอบด้วยผักพื้นบ้านหลายชนิด คลุกเคล้ากับน้ำยำสูตรเด็ดรสชาติจัดจ้าน

          - ปั่นจักรยานเที่ยวชุมชน ไปไหว้พระที่วัดดอนหลวง

          ด้วยชุมชนชาวยองมีขนาดเล็ก บรรยากาศน่ารัก นั่นจึงเป็นโอกาสที่ดีในการปั่นจักรยานเข้าซอยเล็กซอยน้อยของชุมชนแห่งนี้ แล้วคุณจะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศที่แสนจะน่าอยู่ ร่มรื่น ผู้คนยังใช้ชีวิตแบบรู้จักกันเกือบหมด มีความเป็นพี่น้องเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะคนดั้งเดิมในพื้นที่ยังคงมีกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน และอย่าลืมปั่นไปไหว้พระที่วัดดอนหลวง วัดประจำท้องถิ่น เพลิดเพลินกับการชื่นชมศิลปะล้านนาอีกด้วย

 


 


          หากจะพูดว่าชาวบ้านดอนหลวงมีความภาคภูมิใจในความเป็นชาวยอง ทั้งภาษายอง และวิถีการดำเนินชีวิต ตลอดจนการช่วยกันอนุรักษ์ความเป็นตัวตนของท้องถิ่นเอาไว้อย่างมั่นคงก็คงจะไม่ผิดนัก ทั้งยังสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอย่างมั่นคง วันนี้ "บ้านดอนหลวง" จึงพร้อมอย่างยิ่งที่จะให้นักท่องเที่ยวได้ไปทำความรู้จักแหล่งงานหัตถกรรมผ้าฝ้ายทอมือขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศ

ขอบคุณข้อมูลจาก
เว็บไซต์ research.culture.go.th
เว็บไซต์ web.codi.or.th
เว็บไซต์ museumthailand.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Valentine

Chinese New Year